องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เผยผลสำเร็จช่วยสัตว์จากภัยพิบัติ
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) เปิดเผยถึง ผลสำเร็จของการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมุ่งมั่นดำเนินการช่วยเหลือสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติอย่างต่อเนื่องจากเหตุการณ์พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนพัดถล่มหมู่เกาะฟิลิปปินส์ สามารถช่วยเหลือสัตว์ให้มีชีวิตรอดได้มากกว่า 70,000 ตัว พร้อมฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ผู้ประสบภัยและให้ความรู้เพื่อรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติในอนาคต
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เผยผลสำเร็จช่วยสัตว์จากภัยพิบัติ
นางสุภาภรณ์ ลาสต์ ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (ประเทศไทย) กล่าวว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติจากพายุไต้ฝุ่นเกิดขึ้นบ่อยครั้งที่ประเทศฟิลิปปินส์และสร้างความเสียหายมหาศาลทั้งต่อชีวิตผู้คน สัตว์เลี้ยงและปศุสัตว์ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจึงดำเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างรอบคอบและปลอดภัยมากขึ้น โดยภายหลังจากพายุไห่เยี่ยนสงบลง องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ส่งทีมช่วยเหลือเข้าไปให้ความรู้และช่วยสร้างระบบหลุมหลบภัยใต้ดินให้เกษตรกรได้ใช้ ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา ทุกครั้งที่มีสัญญาณเตือนภัยว่าจะเกิดพายุหรือภัยพิบัติ เกษตรกรและครอบครัวสามารถอพยพสัตว์เลี้ยงในความดูแล เช่น หมู เป็ด ห่าน นับพันตัวเข้าไปในที่หลบภัยได้ทันที
ตัวแทนเกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือบอกว่า ระบบหลุมหลบภัยนี้เป็นมิตรกับสัตว์และสิ่งแวดล้อมมาก “เราใช้ใต้ดินหลบภัย ส่วนบนดินก็ใช้เป็นพื้นที่ให้สัตว์ได้เดิน วิ่งมากขึ้น พวกสัตว์มีความสุขมากและสุขภาพดีด้วย” นางเจนนิเฟอร์ เกษตรกรในประเทศฟิลิปปินส์ กล่าว
สำหรับการจัดการสร้างที่พักใหม่ให้กับผู้ประสบภัย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ช่วยเหลือด้วยการออกแบบและให้ความรู้แก่ชาวบ้าน สร้างหลังคาที่สามารถถอดวางกับพื้นเพื่อหลบลมแรงและเมื่อพายุสงบ พวกเขาก็เพียงประกอบหลังคาเข้าที่เดิมและดำเนินชีวิตต่อไปตามปกติ
นางสุภาภรณ์ ยังระบุว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Disaster Management) ซึ่งเป็นปฏิบัติการเพื่อคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือสัตว์เลี้ยง และปศุสัตว์ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติทั่วโลก องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (ประเทศไทย) ในฐานะองค์กรที่รับผิดชอบปฏิบัติการดังกล่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ดำเนินการเชิงรุกเพื่อการป้องกันและรับมือกับสถานการณ์ โดยจัดโครงการ “หน่วยสัตวแพทย์ฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติ” (VETERINARY EMERGENCY RESPONSE UNIT : VERU) เพื่อเตรียมบุคลากรให้มีความพร้อมในด้านองค์ความรู้และการสร้างความพร้อมในการปฏิบัติจริงเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน โครงการนี้ดำเนินการต่อเนื่องมาแล้ว 5 ปีสามารถเสริมสร้างองค์ความรู้การป้องกันและช่วยเหลือสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายนิสิตนักศึกษาในการทำงานเพื่อ
ช่วยเหลือสัตว์ได้อย่างเข้มแข็ง โดยในปีที่ผ่านมา องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ 5 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เพื่อฝึกอบรมนักศึกษาสัตวแพทย์-สัตวบาลสำหรับการรับมือในภาวะวิกฤตเมื่อชุมชนและสัตว์ประสบภัยพิบัติทางน้ำ และร่วมวางแผนพัฒนาหลักสูตรการสัตวแพทย์ของมหาวิทยาลัยทั้ง 5 ด้วยการนำหลักสูตร VERU ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษาด้วย
ในขณะที่ตลอดช่วงปี 2557 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก มุ่งหวังให้ยุติการทำร้ายและทารุณกรรมต่อสัตว์ขณะเดียวกันยังสามารถยับยั้งและยุติการแพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้าได้ด้วย จึงเกิดแคมเปญโครงการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าโดยความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละประเทศแต่ละภูมิภาคทั่วโลก
นางสุภาภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศไทย มีผลสำเร็จจากโครงการพื้นที่เขตปลอดโรคพิษสุนัขบ้า – เชียงใหม่โมเดล ซึ่งกำหนดพื้นที่เทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่นำร่องในการสนับสนุนชุมชนให้มีการฉีดวัคซีนและทำหมันสุนัข พร้อมทำทะเบียนข้อมูลประชากรสุนัขและแมวเพื่อช่วยในการบริหารจัดการพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถช่วยเหลือสุนัขในพื้นที่ได้มากกว่า 10,000 ตัว เชียงใหม่โมเดลจึงเป็นโมเดลที่องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก(ประเทศไทย) นำไปเป็นต้นแบบในแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์อาเซียน 2020 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ที่มีเป้าหมายในการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2563
นอกจากนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกยังให้การสนับสนุนการติดตั้งระบบการเฝ้าระวังช้างในโครงการยุติความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับช้าง (ช้างอยู่รอดคนอยู่ได้) ในพื้นที่ตำบลสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งมีช้างป่าราว 200 ตัวที่ออกหากินในพื้นที่การเกษตรทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้างสร้างความเสียหายต่อผลผลิตการเกษตร มีการบาดเจ็บและสูญเสียชีวิต องค์กรฯ ยังจัดระดมทุน สนับสนุนโครงการเพื่อสร้างการรับรู้ให้สังคมและผู้คนเข้าใจวิถีการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและสมดุลระหว่างคนกับสัตว์
สำหรับแนวทางการดำเนินงานในปีนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกมุ่งเน้นไปที่การต่อต้านอาชญากรรมทุกรูปแบบที่กระทำการทารุณต่อสัตว์ โดยเริ่มรณรงค์แคมเปญไปทั่วโลกเพื่อคุ้มครองและยุติการลักลอบค้าสัตว์ป่าทั่วโลก และยังเพิ่มการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ป่าให้มากขึ้นด้วย สำหรับประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียน องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้เริ่มต้นดำเนินการอย่างเข้มแข็งร่วมกับภาครัฐบาลและองค์กรด้านการอนุรักษ์อีกจำนวนมากเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแนวทางการดูแลและคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ รวมทั้งร่วมกันยุติการลักลอบค้าสัตว์ป่าซึ่งเป็นการช่วยเหลือชีวิตสัตว์ได้นับล้านตัวในแต่ละปี.
No comments:
Post a Comment